ข้อมูลสถานศึกษา

โรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์ ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลกันทรารมย์ อำเภอกันทรารมย์ จังหวัดศรีสะเกษ  ระยะทางห่างจากตัวจังหวัดศรีสะเกษ 25  กิโลเมตร


ประวัติโรงเรียน
          โรงเรียนนี้ตั้งขึ้นเมื่อวันที่  7  พฤษภาคม  พ.ศ.  2465  ณ.  หมู่บ้านคำเนียม  ตำบลดูน  ซึ่งอยู่ห่างจากตัวโรงเรียนปัจจุบัน  3  กิโลเมตร  ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  มีชื่อสมัยนั้นว่า โรงเรียนประชาบาลตำบลดูน 1 (วัดบ้านคำเนียม)  โดยอาศัยวัดบ้านคำเนียมเป็นสถานศึกษา  ดำรงอยู่ด้วยเงินศึกษาพลี  มีนายบุญทัน  บัวแย้ม  วุฒิ  ป.3  เป็นครูใหญ่คนแรก  โรงเรียนประจำอำเภอขณะนั้น  อยู่ที่บ้านหนองบัวตำบลหนองบัว      ที่ว่าการอำเภอขณะนั้นอยู่ที่บ้านหนองบัว  ตำบลหนองบัว  ส่วนที่ว่าการอำเภอกันทรารมย์  ตั้งอยู่ที่บ้านท่าช้าง  ใกล้ๆ  กับบ้านหนองบัว
          สมัยนั้นโรงเรียนดำเนินการสอนตามหลักสูตรกระทรวงธรรมการ(ศึกษาธิการ) เปิดเรียน เวลา09.00  น.  เลิกเรียนเวลา   15.15  น.  วันเสาร์เปิดเรียนครึ่งวัน วันอาทิตย์หยุดเรียนเต็มวัน ต่อมาปิดวันพระบ้างเป็นบางปี แล้วแต่การสั่งการของกระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ต่อมา นายบุญทัน  บัวแย้ม ครูใหญ่ ได้ลาออกไปประกอบอาชีพอื่น ทางราชการได้แต่งตั้งนายบัว  เฉียงเขวา เป็นครูใหญ่แทนเมื่อ  16  มิถุนายน  พ.ศ.2475  การเงินของรัฐฝืดเคือง  ทางราชการจึงปลด นายบัว  เฉียงเขวาออกจากหน้าที่แล้วแต่งตั้ง นายจันทร์  เนตรวงษ์ วุฒิครูพิเศษมูล (พ.) เป็นครูใหญ่
          เมื่อ พ.ศ.2471 ที่ว่าการอำเภอกันทรารมย์ได้ย้ายมาจากบ้านท่าช้าง ตำบลหนองบัว มาตั้งใหม่ที่บ้านร้างเก่า คือบ้านคำบอน ตำบลดูน เพื่อให้ใกล้ทางรถไฟ ซึ่งเปิดใหม่เฉพาะเวลางาน ส่วนการเล่าเรียนให้เด็กไปเรียนที่โรงเรียนบ้านโนนสัง 1 (วัดบ้านหนองมะแซว)  ต่อมาเมื่อวันที่ 1  ตุลาคม พ.ศ.2475 ขุนราชฤทธิ์บริรักษ์  และขุนอุทิศบุตรศึกษากรได้ย้าย โรงเรียนวัดหนองมะแซวมาตั้งที่บ้านคำบอน โดยใช้ที่พักข้าราชการเป็นตัวโรงเรียน ให้มีฐานะเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ   ให้นายทองคำ  คำปังส์ เป็นครูใหญ่ ชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลตำบลดูน 1 (บ้านคำบอน) และโรงเรียนบ้านคำเนียมให้เป็นสาขา มีชื่อว่าโรงเรียนประชาบาลตำบลดูน 2 (สาขาวัดบ้านคำเนียม)
          ในพ.ศ.2475 ขุนราชฤทธิ์บริรักษ์ นายอำเภอกันทรารมย์ได้จัดสร้างโรงเรียนถาวรมุงหลังคา กั้นด้วยฝาสานไม้ไผ่ขึ้น ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของโรงเรียนปัจจุบันนี้ สร้างเสร็จเมื่อต้น พ.ศ.2476 ตัวโรงเรียนทรงปั้นหยาชั้นเดียว    มีมุขกลาง 1 มุข ชั้นเดียว 4 ห้องเรียน สิ้นค่าก่อสร้าง 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน) เงินรายได้นี้เป็นเงินเรี่ยไรจากราษฎร ครั้งเมื่ออยู่บ้านท่าช้าง ได้ย้ายนักเรียนมาทำการสอนที่โรงเรียนสร้างใหม่ เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ.2476 จนถึงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2476 ทางราชการได้ย้ายนายทองคำ  คำปิงส์ ครูใหญ่ไปที่อื่น ย้ายนายนารถ  สิงหรัตน์  สารวัตรศึกษาประจำอำเภอมาเป็นครูใหญ่แทน มีหมู่บ้านที่มาโรงเรียนนี้ ดังนี้

1.
บ้านหนองมะแซว
2.
บ้านอีปุ้ง
3.
บ้านปาปุ่ม (บ้านปากุ่ม) ปัจจุบัน
4.
บ้านหนองโน (บ้านโนนเปือย ปัจจุบัน)
5.
บ้านสิม
6.
บ้านดูน
7.
บ้านแดงและบ้านคำบอน (ที่โรงเรียนตั้งอยู่)

ต่อมา พ.ศ.2476 – 2477 ทางราชการได้เปลี่ยนหลักสูตร เปิดการสอนตั้งแต่ ป.1ป.6 (ชั้นประถมปีที่ 1 – 6) ทุกโรงเรียน พ.ศ.2477 ทางราชการได้ยกฐานะโรงเรียนสาขาเป็นโรงเรียนเอกเทศ ฉะนั้น   โรงเรียนสาขาวัดบ้านคำเนียมจึงเป็นโรงเรียนเอกเทศ  โรงเรียนประชาบาลตำบลดูน 2   (วัดบ้านคำเนียม) ดำรงตนเป็นเอกเทศ ต่อมาเดือนเมษายน พ.ศ.2480 กระทรวงธรรมการ (ศึกษาธิการ) ได้เปลี่ยนหลักสูตรใหม่อีกคือ ให้มีเพียงชั้นประถมปีที่ 1 – 4 ชั้นแรกเข้าเรียน เรียกว่าชั้นเตรียมประถม ในปีเดียวกันนี้ ทางราชการได้ตั้งโรงเรียนขึ้นที่บ้านดูน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2480 มีหมู่บ้านเข้าเรียนดังนี้ 1. บ้านดูน 2. บ้านแดง 3. บ้านสิม 4. บ้านหนองโน จึงขาดจากโรงเรียนบ้านคำบอนตั้งแต่นั้นมา
ใน พ.ศ.2482 ทางราชการได้สร้างโรงเรียนถาวรขึ้นทางทิศตะวันออกของโรงเรียนชั่วคราวนี้และได้นำนักเรียนขึ้นเรียนครั้งแรก เมื่อวันที่ 24 เมษายน  พ.ศ.  2482  หลังเก่ารื้อสร้างบ้านพักครูได้  2 หลัง  หลังได้ทำพิธีเปิดป้ายฉลองเมื่อวันที่  23 – 25  มิถุนายน พ.ศ.2482 3 วัน 3 คืน จึงได้นามโรงเรียนว่า โรงเรียนราชประชาตำบลดูน 1” (กันทรารมย์วิทยา) ต่อมเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2487 ทางราชการได้ย้ายนายมี  จันทร์พวง ครูใหญ่โรงเรียนบัวน้อย 1  ตำบลบัวน้อย บ้านบัวน้อย มาเป็นครูใหญ่แทน
การสอนการปกครองดำเนินไปตามปกติ โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อตามสมัยนิยมคือ โรงเรียนบ้านคำบอน (กันทรารมย์วิทยา)เปิดสอนจากชั้นประถมศึกษาปีที่ 1  ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ทางราชการกระทรวงศึกษาธิการได้ตั้งโรงเรียนขึ้นใหม่ อยู่ในบริเวณเดียวกับโรงเรียนเดิม โรงเรียนบ้านคำบอน (กันทรารมย์วิทยา) คือโรงเรียนกันทรารมย์วิทยาคม ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม  พ.ศ.2499 เป็นโรงเรียนรัฐบาลจัดตั้งดำรงอยู่ได้โดยเงินงบประมาณของแผ่นดิน สอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดกรมสามัญ กระทรวงศึกษาธิการ สอนตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 ต่อมารัฐบาลได้เปลี่ยนแปลงหลักสูตรใหม่ เมื่อ พ.ศ.2504 จากชั้นมัธยมศึกษาปีที่  1 – 3 เป็นชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 – 7 โดยนายมี  จันทร์พวง เป็นครูใหญ่คนแรก ส่วนโรงเรียนบ้านคำบอน(กันทรารมย์วิทยา) นั้น มีนายนิคม  บุญศักดิ์ เป็นครูใหญ่ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2511 นายมี  จันทร์พวง ได้ลาออกจากราชการ
วันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ.2513 ทางราชการได้ยุบโรงเรียนบ้านคำบอน (กันทรารมย์วิทยา) มารวมเข้ากับโรงเรียนกันทรารมย์วิทยาคม และใช้ชื่อเป็น โรงเรียนกันทรารมย์วิทยาคม ตามประกาศองค์การบริหารส่วนจังหวัดศรีสะเกษ ลงวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2513 ลงชื่อโดย นายดำเกิง สุรการ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ และแต่งตั้งนายโอภาส  กันยะกาญจน์ มาดำรงตำแหน่งครูใหญ่ นายเนียม  บัวทอง ผู้ช่วยครูใหญ่คนที่ 1 นายสุพจน์  วงศ์เจริญ ผู้ช่วยครูใหญ่คนที่ 2 ให้นายนิคม  บุญศักดิ์ ครูใหญ่โท โรงเรียนบ้านคำบอน (กันทรารมย์วิทยา) ดำรงตำแหน่งครูใหญ่โทโรงเรียนกันทรารมย์วิทยาคม ทำหน้าที่ครูวิชาการอำเภอกันทรารมย์
ในปีการศึกษา 2513 โรงเรียนจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็กถึงชั้นประถมปีที่ 7 มีชั้นเรียนทั้งหมด 32 ห้องเรียน ชั้นประถมศึกษาตอนต้น 17 ห้องเรียน ชั้นประถมศึกษาตอนปลาย 15 ห้องเรียน มีครู 32 คน นักเรียนทั้งสิ้น 921 คน ภารโรง 4 คน โรงเรียนได้เปลี่ยนแปลงทั้งตังบุคคล อาคารสถานที่เรื่อยมา เขตบริเวณโรงเรียนจึงมี 42 ไร่ 1 งาน 56 ตารางวา โรงเรียนได้เปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์ เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2543 มีผู้บริหารตั้งแต่ก่อตั้งจนถึงปัจจุบันจำนวน 18 คน ปัจจุบันผู้อำนวยการคือ   นายพงษ์  นวลศิริ (คบ.บริหารการศึกษา) โรงเรียนเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีอาคารเรียน 4 หลัง อาคารเอนกประสงค์ 1 หลัง  ส้วม  5 หลัง  บ้านพักครูเดี่ยว  7 หลัง  บ้านพักภารโรง  1  หลัง  เป็นโรงเรียนโครงการปฏิรูป  พ.ศ. 2539 มีห้องปฏิบัติการ  4  ห้อง  คือ   ห้องปฏิบัติการทางภาษา  1  ห้อง  ห้องคอมพิวเตอร์  1  ห้อง  ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์  2  ห้อง  เป็นโรงเรียนในโครงการนำร่องทางการศึกษา  เปิดทำการสอนระดับมัธยมศึกษาเมื่อปีการศึกษา  2544  ขณะนี้มีครู  56  คน  ภารโรง  4  คน  มีนักเรียน  1,150  คน  เป็นโรงเรียนประถมศึกษาขนาดใหญ่  โรงเรียน  ครู  และนักเรียน  ได้รับเกียรติบัตรทางวิชาการดีเด่นระดับอำเภอ  เขตพื้นที่การศึกษา  ระดับจังหวัด  ระดับภาค  และระดับประเทศ
ปีการศึกษา 2551  ได้รับการประกาศให้เป็นโรงเรียนหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงเรียนในฝัน โรงเรียนดีใกล้บ้านและโรงเรียนพระราชทานระดับปฐมศึกษาในปี้เดียวกัน  ปีการศึกษา 2553 โรงเรียนได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน แบบ สปช.105/29  ขนาด  2    ชั้น  4   ห้องเรียน จำนวน  2,600,000  บาท และอาคารเรียนชั้นเดียวเป็นอาคาร E –LEARNING จำนวน  1,900,000  บาท  พร้อมได้รับการจัดสรรคอมพิวเตอร์ จำนวน  30 เครื่อง

คำขวัญประจำโรงเรียน  :
เรียนดี  มีวินัย  ใฝ่กีฬา  พัฒนาสิ่งแวดล้อม

สีประจำโรงเรียน  :      
ขาว แดง

ปรัชญาโรงเรียน  :       
นตฺถิ  ปญา  สมา  อาภา  (แสงสว่างเสมอด้วยปัญญาไม่มี)

ผู้อำนวยการโรงเรียนคนปัจจุบัน  : นายชัยณรงค์ อดทน

อัตลักษณ์ของโรงเรียนอนุบาลกันทรารมย์
“  ใฝ่เรียนรู้

 ใฝ่เรียนรู้   หมายถึง  ผู้ที่มีลักษณะที่แสดงออกถึงความตั้งใจ   เพียรพยายามในการเรียนและเข้าร่วมกิจกรรมในการเรียนรู้ แสวงหาความรู้   จากแหล่งเรียนรู้ทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ   ด้วยการเลือกใช้สื่ออย่างเหมาะสม   บันทึกความรู้   วิเคราะห์   สรุปเป็นองค์ความรู้    แลกเปลี่ยนเรียนรู้    ถ่ายทอด เผยแพร่ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

เอกลักษณ์: มีแหล่งเรียนรู้ เชิดชูท้องถิ่น

มีแหล่งเรียนรู้  หมายถึง นักเรียนได้แสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ภายใน ได้แก่ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์   ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์  ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์ ห้องปฏิบัติการค้นหาเด็กอัจฉริยะ ห้องสมุดโรงเรียน ห้องเรียนวิถีพุทธ  ห้องเรียนธรรมชาติ ห้องดูหนังฟังเพลง ห้องประวัติศาสตร์และแหล่งเรียนรู้ภายนอก ได้แก่ โรงพักกันทรารมย์  ไปรษณีย์กันทรารมย์  ที่ว่าการอำเภอกันทรารมย์ โรงพยาบาล  ตลาดอำเภอกันทรารมย์  หม้อดินบ้านโพนทราย กลองตุ้มกันทรารมย์  แหล่งปลูกหอมกระเทียมกันทรารมย
 
เชิดชูท้องถิ่น
หมายถึง การจัดกิจกรรมสืนสานวัฒนธรรมอำเภอกันทรารมย์
โดยโรงเรียนได้จัดกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณี ลำน้ำมูลชีวิถีกันทรารมย์ ทุกภาคส่วนได้มาร่วมแสดงแสงสีเสียงในคืนที่ ๕ – ๗ เดือนมีนาคม ๒๕๕๓ การแสดงกลองตุ้ม การแสดงของดีกันทรารมย์ รำวงพื้นบ้านย้อนยุค วิถีชีวิตอำเภอกันทรารมย์ กีฬาพื้นบ้าน การแสดงโปงลาง  การลงข่วง ทอดแห หาปลา พระยากันทรารมย์ ภรรยา มหาดเล็กทหารคู่บารมี ชาวบ้านอพยพตั้งถิ่นฐาน               นำมาบันทึกความรู้   วิเคราะห์   สรุปเป็นองค์ความรู้    แลกเปลี่ยนเรียนรู้    ถ่ายทอด เผยแพร่ และนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน